กระดูกข้อเข่าเสื่อม เป็นโรคที่พบได้บ่อยในประชาชนคนไทย อัตราชุกในประชากรไทยอยู่ที่ 2.5 – 4% พบมากในอายุมากกว่า 55 ปี พบในเพศหญิงมากกว่า เพศชาย
สาเหตุหลักของการเกิดโรคข้อเข่าเสื่อมคือ
- การใช้งานมาก
- น้ำหนักตัวมาก (BMI มากกว่า 25kg/m2)
- อุบัติเหตุ หรือการได้รับบาดเจ็บที่ข้อเข่า
- การติดเชื้อที่ข้อเข่า
- โรคภูมิคุ้มกันทำลายข้อเข่า
- ภาวะเข่าโก่งผิดปกติโดยกำเนิด
การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมคือ
- การรักษาโดยวิธีปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิต อันประกอบด้วย
- ลดน้ำหนัก : จากข้อมูลทางการแพทย์ แนะนำให้ลดน้ำหนัก อย่างน้อย 5% ของน้ำหนักตัวที่มีอาการปวดเข่าขณะนั้น และควรรักษาน้ำหนักตัวให้ BMI อยู่ระหว่า 20 – 25kg/m2
- ลดกิจกรรม : ในช่วงที่มีอาการปวดเข่าจากภาวะข้อเข่าเสื่อม แนะนำให้เริ่มลดกิจกรรม เพื่อลดการอักเสบของข้อเข่า เนื่องจากทุกครั้งที่มีอาการอักเสบของข้อเข่า ร่างกายจะมีการกระตุ้นระบบเม็ดเลือดขาว และเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบเข้ามาในข้อเข่า ผ่านทางเยื่อหุ้มเข่า โดยเซลล์ต่างๆ สารกระตุ้นกระบวนการอักเสบ และเอนไซม์ หลายชนิดถูกหลั่งออกและมีผลต่อการทำลายผิวข้อเข่า ทำให้เกิดภาวะข้อเข่าเสื่อมได้
- ออกกำลังกายเพิ่มกำลังเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อรอบข้อเข่า : การออกกำลังกายนอกจากช่วยลดน้ำหนักแล้ว ผู้ป่วยควรเน้นการออกกำลังกายชนิด Arobic Excercise กล่าวคือ ออกกำลังกายให้กล้ามเนื้อหายใจได้ ทำให้กล้ามเนื้อ และเส้นเอ็นมีความแข็งแรงมากขึ้น มีขนาดใหญ่ขึ้น ช่วยทำให้ข้อเข่ามีความมั่นคง ลดการบาดเจ็บต่อข้อเข่า และลดอาการปวดเข่าได้ โดยการออกกำลังชนิด Arobic Excercise นี้มีหลักคืองอเข่า และเหยียดเข่าช้าๆให้สุด โดยมีน้ำหนักถ่วงหัวเข่า คล้ายกับการเล่น Weight training หากเกิดอาการเมื่อยล้าให้หยุดพักทันทีเพื่อไม่ให้กล้ามเนื้อเปลี่ยนไปทำงานแบบ Anaerobic Excercise ซึ่งจะไม่ได้ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ การออกกำลังกายที่ต้องการเน้นด้านหัวใจ และปอด การขี่จักรยาน และ การว่ายน้ำ เป็นการออกกำลังกายที่แนะนำ เนื่องจากลดการบาดเจ็บของข้อเข่าในช่วงที่มีอาการข้อเข่าเสื่อมได้
- การรักษาโดยการใช้ยา
- ยา Paracetamol เป็นยาขนานแรกๆที่ใช้ในคนไข้ข้อเข่าเสื่อม เนื่องจากมีรายงานการลดอาการปวดได้ดี อีกทั้งมีผลข้างเคียงที่ต่ำเมื่อจำเป็นต้องใช้ยาในระยะยาว
- ยากลุ่ม NSAID (Nonstriodal Anti-Inflamation Drug) ยาที่ยับยั้งการสร้าง Enzyme Cyclooxygenase I or II ซึ่งเป็นเอ็นไซน์สำคัญต่อกระบวนการเกิดการอักเสบในร่างกาย ทำให้สามารถลดอาการปวดข้อเข่าได้ อย่างไรก็ตาม ยาดังกล่าวมีผลต่อหลายระบบ เช่น มีผลต่อสารคัดหลั่งเคลือบผิวผนังกระเพาะอาหาร การหดตัวของเส้นเลือดเช่นเส้นเลือดฝอยที่ไต การหดตัวต่อหลอดเลือดหัวใจ ฯลฯ
- ยากลุ่มอนุพันธ์ของ Morphine เช่น Tramadol เป็นอนุพันธ์ของสารมอร์ฟีน ทำให้มีผลลดความเจ็บปวดได้ และไม่ส่งผลต่อระบบการทำงานอื่นของร่างกายมากนัก แต่ผลข้างเคียงทำให้เกิดอาการเวียนศรีษะ คลื่นไส้อาเจียนได้
- การฉีดยา Steroid เข้าข้อเข่า เมื่อได้ยินคำว่า Steroid หลายท่านอาจรู้สึกไม่พึงพอใจ แต่ในความเป็นจริงการใช้ยา Steoroid เฉพาะที่ให้ผลการรักษาที่ดี เนื่องจากเป็นการลดอาการอักเสบโดยตรงในบริเวณที่มีรอยโรค โดยไม่มีผลต่อระบบอื่นของร่างกายอย่างที่พบในการรับประทานยา Steroid อย่างไรก็ตาม การรักษาโดยวิธีดังกล่าวควรอยู่ในมือแพทย์ด้านกระดูกข้อต่อที่เข้าใจกายวิภาคของข้อเข่าเป็นอย่างดี เนื่องจากหากฉีดยากลุ่ม Steroid ไม่เข้าข้อเข่า แต่ไปอยู่ตามกล้ามเนื้อ หรือใต้ผิวหนัง สามารถก่อให้เกิดอาการอักเสบ หรือติดเชื้อได้ อีกประการหนึ่งที่สำคัญคือ หากเทคนิคด้านความสะอาดไม่ดีพอ จะก่อให้เกิดการติดเชื้อในข้อต่อ หรือ เนื้อเยื่อโดยรอบได้ ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายอย่างมาก เป็นเหตุให้หากเลือกจะรักษาโดยวิธีดังกล่าวควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์อย่างใกล้ชิด
- การฉีดยากลุ่ม Hyaluronic acid เนื่องด้วยยามีโครงสร้างคล้ายกับน้ำเลี้ยงข้อเข่าของมนุษย์ช่วยเพิ่มความหล่อลื่น และเป็นลดแรงกระแทกระหว่างข้อเข่า อีกทั้งยังเป็นสารตั้งต้นของการสร้างผิวข้อ ช่วยให้ปริมาณกระดูกอ่อนที่ผิวข้อมีปริมาตรเพิ่มมากขึ้น
- การผ่าตัด
- การส่องกล้องผ่าตัดแต่งผิวข้อเข่า (Arthroscopic Debridement / Microfracture)
- การส่องกล้องผ่าตัดแต่งผิวข้อเข่า ใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อย หรือ ระยะ I-II ตาม Kellgren and Lawrence classification โดยแพทย์จะทำการส่องด้วยกล้องส่องเข่า เพื่อตรวจดูรอยโรค และตกแต่งผิวข้อที่มีลักษณะรุ่งริ่งให้เรียบ ตลอดจนเจาะให้ไขกระดูกออกมาก่อตัวบริเวณที่ผิวกระดูกอ่อนหายไป ซึ่งไขกระดูกเหล่านี้มีส่วนประกอบของ Stem cell ที่จะเปลี่ยนรูปร่างเป็น Fibrocartilage ปกคลุมกระดูกอ่อนที่ลอกหลุดไป ทำให้ความเจ็บปวดลดลง
- การผ่าตัดเปลี่ยนแนวกระดูก (Osteotomy around knee)
- เพื่อให้น้ำหนักไปลงบริเวณที่กระดูกยังดี วิธีนี้แพทย์จะทำการผ่าตัดเปลี่ยนแนวกระดูกรอบๆเข่า เพื่อแก้ภาวะเข่าโก่ง สุดท้ายน้ำหนักจะย้ายไปลงบริเวณผิวข้อที่ยังมีคุณภาพดี อาการเจ็บปวดข้อเข่าจึงหายไป
- การส่องกล้องผ่าตัดแต่งผิวข้อเข่า (Arthroscopic Debridement / Microfracture)
- การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม (Knee Arthroplasty) แพทย์จะเลือกวิธีนี้กรณีผู้ป่วยมีการสูญเสียกระดูกอ่อนข้อเข่าไปบริเวณกว้าง ยากต่อการก่อตัว หรือสร้างกระดูกอ่อขึ้นมาทดแทน เป็นเหตุให้แพทย์จะตัดผิวข้อเข่าที่เสียหายนั้นออก แล้วใส่ผิวข้อเทียมเข้าทดแทนกระดูกที่ตัดออกไป ผิวข้อเทียมในปัจจุบันมีหลายแบบ หลายรุ่น ขึ้นกับลักษณะความเสียหายของผู้ป่วย กล่าวคือ หากเสียหายเพียงบางส่วน แพทย์จะทำการเปลี่ยนข้อเข่าเทียมบางส่วน หรือที่เรียกว่า
- Unicompartmental Knee Arthroplasty วิธีดังกล่าวมีผลการรักษาที่ดีหากเลือกในผู้ป่วยที่มีผิวข้อสึกเสียหายเพียง 1 ใน 3 ของทั้งหมด อีกทั้งเสียเลือดน้อย และฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว
- Total Knee Arthroplastyในกรณีที่ข้อเข่าเสียหายมากกว่า 1 ใน 3 ของผิวข้อเข่าทั้งหมด แพทย์จะทำการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมให้ทุกส่วนของข้อเข่า เรียกว่า ซี่งมีผลการรักษาที่ดีมาก
-
-
ภาพแสดง การเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
-
กล่าวโดยสรุป ข้อเข่าเสื่อมเป็นโรคที่พบบ่อยในประเทศไทย มีสาเหตุการเกิดโรคได้หลายอย่างเช่น การใช้งานมาก อ้วน การบาดเจ็บที่ข้อเข่า โรคบางชนิดที่ทำลายผิวข้อ และ โรคติดเชื้อข้อเข่า การรักษาสามารถทำได้ตั้งแต่การรับประทานยา ทำกายภาพบำบัด ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ออกกำลังกาย และการผ่าตัด ซึ่งมีการผ่าตัดหลายชนิดที่ช่วยเหลือผู้ป่วยได้นอกเหนือจากการเปลี่ยนข้อเข่าเทียม อาทิ การส่องกล้องตกแต่งผิวข้อ การตัดเปลี่ยนแนวกระดูกรอบข้อเข่า และการเปลี่ยนข้อเข่าเทียมบางส่วน โดยควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญตั้งแต่ช่วงแรกของอาการปวดเข่า จะช่วยให้รักษาโดยการไม่เปลี่ยนเป็นข้อเข่าเทียมได้