หลังจากห่างหายจากบทความทางการแพทย์ไป 4 เดือนได้ ตอนนี้ก็ได้กลับมาเขียนอีกครั้ง เนื่องจากงาน Back Office ในโรงพยาบาลเสร็จสิ้นแล้ว จึงมีเวลาอยากเขียนในสิ่งที่เขียนเสียที
ช่วง 4 เดือน มานี้มีคนไข้กลุ่มหนึ่งปรากฎมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดคือคนไข้ที่มาพบแพทย์ออร์โธปิดิกส์ด้วยอาการ ปวดข้อมือ โดยอาการปวดข้อมือดังกล่าวจะมีลักษณะเฉพาที่เป็นเอกลักษณ์มากๆนะครับ คือ เจ็บข้อมือฝั่งนิ้วโป้งเท่านั้น โดยผู้ป่วยสามารถตรวจตัวเองได้โดยการกดหาจุดกดเจ็บ จะพบจุดกดเจ็บอยู่ใกล้ๆปุ่มกระดูกแข็งบริเวณข้อมือฝั่งนิ้วโป้ง (รูปที่ 1 ) และอาการแสดงที่เป็นเอกลักษณ์มากที่สุดคือ เมื่อผู้ป่วยกำนิ้วหัวแม่มือแน่นๆจะมีอาการเจ็บขึ้นมาบริเวณปุ่มกระดูกดังกล่าว และเมื่อกำมือในท่าดังกล่าวและบิดข้อมือไปทางนิ้วก้อย (รูปที่ 2) จะมีการการเจ็บมากๆจนอาจต้องร้องจ๊ากกันเลยทีเดียว อาการเจ็บร้องจ๊ากเมื่อบิดข้อมือไปทางนิ้วก้อยนี้มีชื่อเรียกเล่นๆว่า “Finkelstein’s test” เป็นบวก
ถ้าท่านมีอาการเหมือนตามที่ผมเล่ามาทั้งนี้แล้ว ท่านอาจกำลังมีปัญหาพังพืดกดทับเส้นเอ็นข้อมือและนิ้วโป้ง หรือที่แพทย์มีชื่เรียกเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า “de Quervain’s Disease” ซึ่งชื่อโรคดังกล่าวตั้งเพื่อให้เป็นเกียติแก่ Dr.Fritz de Quervain ศัลยแพทย์ชาวสวิส ที่รายงานโรคนี้ไว้เมื่อปี 1895 2 ไม่น่าเชื่อโรคนี้มีรายงานมากว่า 100 ปีแล้ว แต่จำนวนผู้ป่วยโรคดังกล่าวกลับไม่ได้ลดลง ด้วยการใช้ชีวิตมนุษย์ ยังต้องทำงาน เล่นกีฬา ทำกิจกรรมอีกมากมายที่ต้องใช้นิ้วหัวแม่มือและข้อมือ โรคดังกล่าวจึงยังพบได้ตลอดระยะเวลาที่แสนยาวนานดังกล่าว ในช่วงหลังนี้เอง ที่โลกขับเคลื่อนด้วยสมาร์ทโฟน การใช้นิ้วหัวแม่มือจึงมีมากขึ้น ซึ่งมีรายงานทางการแพทย์หลายฉบับชี้ว่าสิ่งนี้เป็นสาเหตุของโรค de Quervain’s disease ได้ 1 อีกสาเหตุคาดว่าประชากรส่วนใหญ่ของประเทศประกอบอาชีพ เกษตรกรรม และการใช้แรงงานฝีมือ การใช้มือรวมถึงหัวแม่มือมีความจำเป็นมาก ทำโรคดังกล่าวยังคงคุกคามประชาชนชาวไทยอยู่ตลอดมา
เมื่อได้รู้จักโรคดังกล่าวแล้ว มารู้จักการรักษากันครับ การรักษาสามารถเริ่มจากการทานยาแก้อักเสบ และพักการใช้ข้อมือข้างที่เจ็บ โดยการพักดังกล่าวนอกจากการพักการใช้ข้อมือแล้ว นิ้วโป้งยังเป็นนิ้วที่ควรพักการใช้งานอีกด้วย การใส่อุปกรณ์ตัวรัดข้อมือควรเป็นชนิดรัดนิ้วหัวแม่มือไว้ด้วย (รูปที่ 3) ซึ่งมีรายงานทางการแพทย์ให้ผลการรักษาที่ดีในกรณีผู้ป่วยเป็นไม่มาก หากการรักษาด้วยการรับประทานยาร่วมกับการพักการใช้งานแล้วผู้ป่วยยังไม่ดี การรักษาขั้นต่อไปคือ การฉีดยาลดอาการอักเสบเข้าในปลอกหุ้นเส้นเอ็นที่กดรัดเส้นเอ็น เพื่อลดอาการอักเสบของเส้นเอ็นลงทำให้การกดทับลดลงและอาการปวดก็ลดลงตาม

อย่างไรก็ตาม ในผู้ป่วยบางรายอาการอักเสบเส้นเอ็นข้อมือเป็นเรื้อรัง จนเกิดพังพืดที่หนากดทับเส้นเอ็นข้อมือเอาไว้ การฉีดยาลดอาการอักเสบก็อาจไม่ได้ผลที่ดีนัก เนื่องจากพังพืดที่มีขนาดใหญ่ และหนา กดทับเส้นเอ็นไว้ตลอดเวลาทำให้เกิดอาการอักเสบซ้ำๆ แม้จะฉีดยาลดอาการอักเสบไป การกดทับก็ก่อนให้เกิดการอักเสบอีกครั้ง เช่นนี้เรื่อยไปจนสุดท้ายปลอกหุ้มเส้นเอ็นมีการหนาตัวมากจนการฉีดยาไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้เองที่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดพังพืดที่ข้อมือฝั่งนิ้วโป้งในเวลาต่อมา