ปวดหัวเข่าค่ะ
ปกติออกตรวจห้องตรวจผู้ป่วยนอก หรือคลินิคเอกชน จะพบอาการคนไข้ที่สำคัญที่มาบอกแพทย์บ่อยๆ คือ ปวดหัวเข่า ฟังดูเหมือนอาการพื้นๆ แต่พอซักประวัติไปจะพบความพิศดาร ได้พอสมควร
หลายๆท่านมักเข้าใจว่า ปวดหัวเข่าก็คงเป็นโรคหัวเข่าเสื่อม บางครั้งทานยารักษาโรคหัวเข่าเสื่อมก็ไม่หายสักที ซึ่งรบกวนการใช้ชีวิตและการทำงานเป็นอย่างมาก
อันที่จริง ปวดเข่ายังสามารถเป็นอย่างอื่นได้อีกหลายอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 60 ปี การจะวินิจฉัยว่าเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมอาจต้องพิจารณาให้ดี
โรคที่ทำให้มีอาการปวดหัวเข่าที่พบบ่อยในประสบการณ์ของหมอได้แก่ Pes anserinitis, Patellofemoral joint arthritis, Bursitis, Synovitis (เช่นกลุ่มโรครูมาตอยด์), Degenerative meniscal tear และที่น่าสนใจคือ ภาวะหัวสะโพกตาย (AVN hip)??!! ไว้ผมจะลงรายละเอียดในแต่ละโรคให้ฟังนะครับ
โรคที่ผมยกมานี้มาจากประสบการ์ณที่พบกับผู้ป่วยที่มาด้วยอาการปวดหัวเข่าในที่นี้ไม่นับรวมกลุ่มที่มีประวัติอุบัติเหตุที่หัวเข่า กรณีนั้นจะเป็นอีกกลุ่มการบาดเจ็บเส้นเอ็นรอบข้อเข่าครับ ว่าแล้วเรามาเริ่มรู้จักโรคที่พบค่อนข้างบ่อยโรคแรกกันเลย
Pes anserinitis ฟังชื่อแล้วอาจดูหรูหราไฮโซ แต่จริงๆเป็นโรคที่พบบ่อยในคนที่ปวดเข่าด้านใน กล่าวคือ ถ้าแบ่งหัวเข่าออกเป็นสองซีกโดยแบ่งกึ่งกลางลูกสะบ้า โรคนี้จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกปวดด้านใน ใต้ต่อข้อเข่า และลูกสะบ้าเล็กน้อย (รูปที่ 1) Pes anserine มีรากศัพท์ จากภาษาละติน 2 คำคือ Pes แปลว่า “Foot”, Anserine แปลว่า “gooselike” แปลเต็มๆได้ว่า goose like foot = “เท้าสัตว์จำพวกเป็นห่าน” น่าสนใจคนที่ตั้งชื่อจุดเกาะของเส้นเอ็นบนบริเวณหัวเข่ามนุษย์เราช่างมีจิตนาการล้ำลึกมากๆ เพราะหลายครั้งที่ผ่าตัดศึกษาในอาจารย์ใหญ่ หรือ ผ่าตัดให้คนไข้จะพบโครงสร้างดังกล่าว คล้ายเท้าสัตว์จำพวกเป็ดห่านจริงๆครับ (รูปที่ 2)


จะเห็นจาก รูปที่ 3 จุดเกาะ pes anserinous อยู่ใต้ต่อข้อเข่ามาทางด้านในของต้นขา ซึ่งเป็นส่วนต้นมากๆ เรียกว่าใต้ต่อลูกสะบ้าเลยก็ว่าได้ ดังนั้น ถ้ามีอาการปวดบริเวณดังกล่าว ก็ให้คิดไว้ก่อนว่าเป็นโครงสร้างนี้มีอาการอักเสบ โรคนี้พบบ่อยในคนที่อายุน้อยกว่า 60 ปี มีกิจกรรมเดินยืน หรือ งอเข่าบ่อยๆ มักมีอาการปวดในจังหวะจากยืนเหยียดเข่าเป็นงอเข่า แต่คนที่มีอาการอักเสบมาก อาจปวดได้ตลอดเวลา กดเจ็บ จนถึงพบมีอาการบวมได้บริเวณดังกล่าว

การตรวจร่างกายพิสูจน์ ทำได้ง่ายๆท่านผู้อ่านก็สามารถทำเองได้ โดยให้งอเข่าต้านแรงกับสิ่งของต่างๆในท่างอเข่าเล็กน้อย สิ่งของดังกล่าวอาจเป็นขอบขาโต๊ะ เก้าอี้ ธรณีประตู ขอบเตียง อะไรก็ได้ที่วางตัวขวางสามารถงัดกับส้นเท้าของเราได้ จากนั้น ออกแรงเกร็งพยายามงอหัวเข่าต้านแรงกับสิ่งของดังกล่าว (หรือจะให้เป็นคนมาช่วยจับเข่าสู้แรงกับคนที่ปวดเข่าก็ได้) ซึ่งเมื่อต้านแรงกันแล้วผู้ป่วยก็จะเจ็บที่ใต้เข่าเยื้องด้านในเล็กน้อยขึ้นมาทันที
การรักษา เนื่องจากโรคดังกล่าวเป็นเพียงการอักเสบของจุดเกาะเส้นเอ็น pes anserine ทำให้การรักษาด้วยการไม่ผ่าตัดให้ผลที่ดี โดยการลดกิจการเดิน ยืน งอเหยียดเข่าลง ร่วมกับทานยาแก้อักเสบของเส้นเอ็นและยาคลายกล้ามเนื้อ เมื่ออาการปวดลดลงมาก ผู้ป่วยสามารถทำการฟื้นฟูเส้นเอ็นและจุดเกาะเส้นเอ็นดังกล่าวโดยวิธี ยืดเส้นเอ็น (streching excercise) ซึ่งดูได้ดัง รูปที่ 4 รายละเอียดการทำกายภาพมีมากระดับหนึ่ง แต่ถ้ากล่าวง่ายๆคือสะโพกควรงอเล็กน้อย กางออก และ เข่าต้องเหยียดสุดตลอดการทำกายบริหาร เราอาจพลิกแพลงหลักการดังกล่าวเป็นท่าง่ายๆเช่น นอนราบกับพื้นแล้ว ยกขาข้างที่มีอาการปวดพาดกับกำแพง แล้วพยายามกดให้เข่าเหยียดตรึงร่วมกับสะโพกงอมากๆ อีกท่าคือท่าง่ายๆที่พวกเราเคยฝึกันแต่เด็ก นั่งเหยียดเข่าตรง 2 ข้างนำปลายมือแตะปลายเท้าให้ได้ (ท่ายากสำหรับคนมีอายุอย่างเราๆทั้งหลายครับ)

แต่ในผู้ป่วยบางราย การอักเสบเป็นมาก ร่วมกับผู้ป่วยมีความจำเป็นไม่สามารถหยุดพักหรือลดงานเป็นเวลานานๆได้ การฉีดยาลดอาการอักเสบเข้าบริเวณจุดเกาะดังกล่าว ก็เป็นการรักษาที่ดี เนื่องจาก ผู้ป่วยจะสามารถกลับมาทำการฟื้นฟูเส้นเอ็นได้เร็วขึ้นทำให้ระยะยาว ผลการรักษาค่อนข้างให้ผลดี
ข้อควรระวังคือผู้ป่วยควรได้รับการตรวจจากแพทย์เพื่อยืนยันถึงโรคดังกล่าว เนื่องจากในประสบการณ์ของหมอ มีหลายครั้งที่ผู้ป่วยเข้าใจว่าตนเองเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมและเดินทางมาโรงพยาบาลหรือคลินิคเพื่อขอฉีดยาเข้าข้อเข่า ซึ่งเมื่อได้รับการตรวจและถ่ายภาพทางรังสี ก็พบว่าข้อเข่าเป็นปกติดี อาการดังกล่าวเป็นจากโรค Pes anserinitis นั่นเอง ซึ่งการรักษาก็ต่างกันโดยสิ้นเชิง
นพ.วิฑูรย์ เตรียมตระการผล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์
ด้วยความปราถนาดี คลินิคแพทย์วิฑูรย์
Phitsanulok Orthopaedic Klinikum
เพราะการเคลื่อนไหวคือชีวิต เราจึงอุทิศใส่ใจดูแล